เร่งควบคุมโรคมือ เท้า ปาก หลังพบโรคเพิ่มมากขึ้นในช่วง 1 เดือน



 

          กรมควบคุมโรค  ขอความร่วมมือโรงเรียนอนุบาล  สถานรับเลี้ยงเด็ก เข้มงวดเรื่องความสะอาด ของครูพี่เลี้ยง ตัวเด็กและอุปกรณ์ รวมทั้งของเล่น  เพื่อป้องกันโรค มือ เท้า ปาก ระบาด  หากมีเด็กป่วยหลายคน ให้แจ้งสำนักระบาดวิทยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อควบคุมโรค 

          วันนี้(21 สิงหาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยเด็กเล็กที่จะป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก  เนื่องจากเริ่มพบผู้ป่วยมากในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรค ตั้งแต่ 1 มกราคม–19 สิงหาคม 2556 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั่วประเทศ 27,484 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 42.77 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 1 ราย  กลุ่มที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ  รองลงมาเป็นภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ซึ่งในช่วงนี้ฝนตกชุกมาก และยังเป็นฤดูกาลที่โรคมือ เท้า ปาก ระบาดมากเช่นกัน จึงให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก

 

          ด้าน ดร.นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรค มือ เท้า ปาก  เป็นช่วงการระบาดของโรค แม้ว่าสถานการณ์โรคในภาพรวมใกล้เคียงปีที่แล้วก็ตาม แต่ขณะนี้จำนวนเด็กป่วยยังมีมาก   จึงขอให้ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ซึ่งมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่รวมกันมาก และต้องมีมาตรการดูแลเด็กที่เข้มข้นกว่าช่วงอื่นๆ  โดยโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส เป็นไวรัสที่อยู่ในลำไส้ การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากการรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง เชื้อไวรัสจะมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ้มพอง และแผล หรืออุจจาระที่มีเชื้อไวรัส  นอกจากนี้ การไอ จาม รดกัน และสูดละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสเข้าไปก็ติดโรคได้ โรคนี้เป็นแล้ว หายได้เอง ภายใน 7–10 วัน โดยแพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ ไม่มียารักษาจำเพาะ ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครอง ครู พี่เลี้ยง ควรตัดเล็บสั้น เพื่อไม่ให้เชื้อโรคติดตามซอกเล็บและควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ  ขณะเลี้ยงเด็ก ช่วงก่อนและหลังเตรียมอาหาร ภายหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม  สำหรับตัวเด็กต้องหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน  เช่น ขวดนม แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า เช็ดตัว เช็ดมือ รวมทั้งต้องให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วย หากพบเด็กป่วยต้องรีบแยกออกหรือให้หยุดอยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบแพทย์ หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก ผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรพิจารณาดำเนินการ ดังนี้ ปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยชั่วคราว ประมาณ 5–7 วัน ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม สระว่ายน้ำ ครัว โรงอาหาร  บริเวณที่เล่นเด็ก โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว (20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร) หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน  นอกจากนี้ต้องทำความสะอาดของเล่นและผึ่งให้แห้ง หยุดใช้เครื่องปรับอากา เปิดม่านให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึงและแจ้งการระบาดได้ที่สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักอนามัย   กรุงเทพมหานคร  หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กรมควบคุมโรค 1422


แหล่งข่าวโดย » กลุ่มประชาสัมพันธ์และข่าว สำนักงานเลขานุการกรม กรมคร. 
[สิงหาคม พุธ 21,พ.ศ 2556 15:33:40] 
พิมพ์ข่าว

  ลิขสิทธิ์ โดย สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ.2553 © 2010 |